การรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน

มีคนไข้หลายคนละเลยปล่อยฟันให้ผุทิ้งไว้ไม่รักษา และอุดฟันให้เรียบร้อยทำให้โรคฟันลุกลามทำลายฟันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน เกิดการอักเสบและมีฝีหรือถุงหนองที่ปลายรากฟัน มีอาการปวดทรมาน ทั้งยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค คอยบ่อนทำลายสุขภาพร่างกายอย่างเรื้อรัง จนจำเป็นต้องถอนฟันไปแล้วมิใช่น้อย แต่เมื่อเกิดความต้องการแก้ไขด้วยการรักษาฟันไว้ ไม่อยากถอนออกจากปากก็แทบจะสายเสียแล้ว

แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เกินความสามารถของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยเหลือคนไข้เหล่านั้นได้ เพียงแต่วิธีการรักษาค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์ทุกคน มิได้ปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นเพราะงานรักษารากฟันเป็นงานที่ลำบากมิใช่น้อย โดยเฉพาะการรักษารากฟันกรามซึ่งมี 3 – 4 ราก ดังนั้นเพื่อให้การรักษาเกิดผลสำเร็จตามความต้องการ จึงจำเป็นต้องเสียเวลาไปพบทันตแพทย์หลายครั้งในการรักษารากฟัน


วิธีรักษารากฟัน หลักการสำคัญในการรักษารากฟันคือ ถ้าฟันของผู้ป่วยมีการติดเชื้อในโพรงประสาท การรักษาก็จะทำโดยการใส่ยาประเภทแคลเซียมไฮดรอกไซด์ เพื่อฆ่าเชื้อ เมื่อมั่นใจแล้วว่าภายในคลองรากฟันปราศจากเชื้อ ก็จะทำการอุด และครอบฟันต่อไป

ขั้นตอนการรักษารากฟัน มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

  1. กรอฟันหาคลองรากฟันซึ่งเป็นรูเล็กๆ อยู่ต่อจากโพรงประสาท ถึงปลายรากฟัน
  2. ขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้น้ำยาล้าง ซับให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อโรคได้
  3. ปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ประมาณ 3 ถึง 7 วัน
  4. ล้าง และขยายคลองรากฟัน พร้อมเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อโรคใหม่ และอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราวกลับไปอีกครั้ง ทำเช่นนี้ 2 – 3 ครั้ง จนกว่าหนองจะแห้ง ไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง
  5. เมื่อหนองแห้งไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง ทันตแพทย์ก็จะทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันถาวรโดยใช้วัสดุจำพวกยาง อุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟัน และปิดทับด้วยวัสดุทางทันตกรรมจำพวกซีเมนต์ ( Cement) และอมัลกั้ม ( Amalgum ) ซึ่งมีสีคล้ายเงินหรือกระดาษดีบุกที่หุ้มซองบุหรี่มีคุณสมบัติให้ความแข็งแรงได้ดี จึงใช้อุดฟันกรามที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมากๆ สำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม และไม่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก ก็จะอุดด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติ
  6. ทันตแพทย์จะทิ้งระยะเพื่อรอดูอาการซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของฟัน และเมื่อแน่ใจว่าการรักษารากฟันประสบความสำเร็จ ทันตแพทย์ก็จะทำการครอบฟันด้วยวัสดุตามความเหมาะสม

การรักษารากฟัน สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป ดีกว่าการใส่ฟันปลอม เพราะฟันที่รักษารากแล้วก็เหมือนฟันในปากซี่อื่นๆ คือ มีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงแข็งแรง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม

การรักษารากฟัน คือ การนำเอาเส้นเลือด และเส้นประสาทที่มาเลี้ยง ตัวฟันออกไป แล้วแทนที่ด้วยวัสดุบางอย่าง มักจะทำการรักษารากฟัน เมื่อฟันผุหรือหักทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งไม่สามารถ ทำการอุดฟันได้ตามปกติ หรือ ฟันที่รับอันตรายจากแรงกระแทก ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงตัวฟันขาดหรือ เสียไป ซึ่งอาการที่ผู้ป่วยมักจะมาหา คือ ปวดฟัน, ฟันมีสีคล้ำลงกว่าเดิม

การรักษารากฟันต้องมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมักใช้เวลาในการรักษามากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจให้ทันตแพทย์รักษารากฟัน ผู้ป่วยต้องแน่ใจว่ามีเวลา เพียงพอที่จะมารับการรักษา โดยปกติจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของฟันที่จะรับการรักษา

​อนึ่ง การรักษารากฟัน เป็นเพียงการที่จะพยายามเก็บฟันไว้ให้อยู่ในช่องปาก ได้นานที่สุดแทนที่จะต้องถอนออกไป ดังนั้น หลังจากการรับการรักษารากฟัน โดยสมบูรณ์แล้ว ฟันซี่นั้นอาจจะอยู่ได้อีก 1 ปี, 2 ปี, 5 ปี หรือตลอดชีวิตก็ได้ ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้วจะเรียกว่าฟันตาย (non-vital tooth) โดยจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เห็นได้ชัด คือเนื้อฟันจะเปราะขึ้น แตกหัก ได้ง่ายขึ้น ฟันเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลงกว่าเดิม ดังนั้น ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ ทำเดือยฟันร่วมกับครอบฟัน (post & core) เพื่อให้ฟันนั้นมีความแข็งแรง และสวยงามดังเดิม

​การรักษารากฟัน (Root canal treatment)

การรักษารากฟัน (Root canal treatment) คือ วิธีการรักษาทางทันตกรรมบริเวณเนื้อเยื่อในฟัน โพรงเนื้อเยื่อในฟัน หรือคลองรากฟัน ที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปทำลายรากฟัน เนื้อเยื่อในฟัน เนื้อฟัน เส้นเลือด หรือเส้นประสาทภายในซี่ฟัน จนทำให้เกิดอาการปวดฟัน ฟันผุ และเป็นหนอง โดยทันตแพทย์รักษารากฟันจะกรอกำจัดฟันผุ และเปิดเข้าไปกำจัดเนื้อเยื่อในฟันที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อโดย รอบเพื่อทำความสะอาด ซ่อมแซมรากฟัน ใส่ยา อุดคลองรากฟัน รวมถึงบูรณะฟันให้กลับมามีสุขภาพดี แข็งแรง สวยงาม และสามารถทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ


เนื้อเยื่อในฟัน (Dental pulp) คืออะไร?

เนื้อเยื่อในฟัน (Dental pulp) คือ เนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องว่างชั้นในสุดใจกลางของตัวฟันและรากฟัน หรือเรียกช่องว่างนี้ว่าโพรงเนื้อเยื่อในฟัน (Pulp chamber) และคลองรากฟัน (Root canal) เนื้อเยื่อในฟันประกอบด้วย เนื้อเยื่อ เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงและนำของเสียออกจากบริเวณฟัน เส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึก และท่อน้ำเหลืองที่ช่วยระบายของเสียและสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เมื่อฟันผุจนทะลุถึงโพรงเนื้อเยื่อในฟัน เชื้อหรือสารพิษจากแบคทีเรียจะเข้าสู่เนื้อเยื่อในฟัน ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ โดยการอักเสบอาจลุกลามลงสู่รากฟัน ที่ปลายสุดของรากฟันจะมีรูที่เปิดเชื่อมกับกระดูกขากรรไกร ทำให้สารอักเสบแพร่ออกสู่เนื้อเยื่อรอบรากฟัน เป็นเหตุให้เกิดการละลายของกระดูก ทำให้เกิดอาการปวด เคี้ยวเจ็บ บวม เป็นหนอง มีกลิ่นปาก ฟันโยก และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา


รากฟันอักเสบ สาเหตุเกิดจากอะไร?

รากฟันอักเสบ หรือเนื้อเยื่อในฟันอักเสบมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีต้นเหตุจากฟันผุ ฟันแตกหัก ฟันร้าว โรคปริทันต์ชนิดรุนแรง หรือการได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้ฟันได้รับแรงกระแทกจนส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ หรือการตายของเนื้อเยื่อในฟันที่หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจะยิ่งทำให้ฟันและเนื้อเยื่อโดยรอบเกิดความเสียหายรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้การรักษามีความยากซับซ้อน มีโอกาสรักษาให้หายได้น้อยลง และอาจนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวกับเหงือกและฟันซี่ข้างเคียงตามมา


​หนองปลายรากฟันเกิดจากอะไร?

หนองที่ปลายรากฟัน เกิดจากเนื้อเยื่อในฟันอักเสบหรือติดเชื้อเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาจนลุกลามจากตัวฟันลงสู่รากฟัน ออกสู่เนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันจนเกิดการทำลายเนื้อเยื่อและการละลายของกระดูกรอบรากฟัน เกิดเป็นถุงหนองดันเนื้อเยื่อเหงือกทำให้เหงือกบวม เป็นหนอง และมีอาการปวด ในกรณีรุนแรงอาจมีอาการเหงือกบวม ใบหน้าบวม อ่อนเพลีย และมีไข้ร่วม เมื่อเอกซเรย์จะมองเห็นเงาสีดำที่ปลายรากฟันที่แสดงให้เห็นถึงหนองหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อในฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะทำการรักษาหนองที่คลองรากฟันจนเหงือกหายเป็นปกติ ไม่มีอาการใด ๆ ก่อนแล้วจึงค่อยทำการอุดคลองรากฟัน และทำการบูรณะบริเวณเหงือกและฟันด้านบนต่อไป


ลักษณะฟันที่ต้องรักษารากฟัน

  1. ฟันผุลึกจนถึง หรือใกล้ถึงเนื้อเยื่อในฟัน
  2. ฟันแตกหัก ฟันร้าว 
  3. ฟันตาย ฟันที่ไม่มีเส้นเลือดไหลเวียนในโพรงประสาทฟัน 
  4. ฟันที่จำเป็นต้องแก้ไขแนวฟันเพื่อทำครอบฟัน 
  5. ฟันที่เป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรงหรือโรคปริทันต์จนทำให้ฟันตาย 
  6. ฟันสึก จากการพฤติกรรมการนอนกัดฟัน หรือการเคี้ยวที่รุนแรงจนทำให้ฟันสึกจนถึงโพรงเนื้อเยื่อในฟัน
  7. ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ


อาการรากฟันอักเสบ เป็นอย่างไร?

อาการรากฟันอักเสบมีสาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่อในฟันอักเสบ เส้นประสาทฟันภายในถูกกระตุ้นจนทำให้เกิดความเจ็บปวด สารอักเสบจะค่อย ๆ ทำให้เนื้อเยื่อในฟันอักเสบ เป็นหนอง และเกิดการตายของเนื้อเยื่อในฟัน จากนั้นจะค่อย ๆ ขยายขอบเขตลุกลามจนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการเสียวฟัน โดยจะมีอาการเสียวฟันในช่วงแรกเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น เช่น เมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนเย็น หรือเมื่อเคี้ยวอาหาร โดยอาการเสียวฟันจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น และรุนแรงขึ้น
  • อาการปวดฟัน โดยอาจเริ่มจากการมีอาการปวดฟันค้างเป็นเวลานานเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น ทั้งนี้อาการปวดฟันอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดตอนกลางคืนจนมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง ปวดร้าวลึกถึงรากฟัน ปวดลามไปถึงบริเวณขากรรไกร ใบหน้า และฟันซี่อื่น ๆ 
  • เหงือกบวม ใบหน้าบวม เนื่องจากมีอาการอักเสบและ/หรือการสะสมของหนองในคลองรากฟัน
  • มีการบวมของขากรรไกรและใบหน้า อาจมีอาการอ่อนเพลีย และมีไข้ร่วม
  • ฟันเปลี่ยนสี สีฟันคล้ำ หรือสีฟันเข้มขึ้น อันเนื่องมาจากเส้นเลือดภายในฟันได้รับความเสียหาย


การรักษารากฟันมีวิธีอย่างไร?

ทันตแพทย์จะทำการรักษารากฟันโดยการซักประวัติ ตรวจฟันและเนื้อเยื่อบริเวณฟันอย่างละเอียด ทำการ x-ray ช่องปากและฟัน เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของรากฟันอักเสบ ให้การพยากรณ์โรค และประเมินผลสำเร็จในการรักษาเพื่ออธิบายและให้ทางเลือกในการรักษาแก่ผู้เข้ารับการรักษา

​ทันตแพทย์จะทำการรักษาคลองรากฟันโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการใส่ยาชาเฉพาะที่ (Local Anastasia) เพื่อป้องกันความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างรักษา ในบางกรณีที่ผู้รับการรักษามีความกลัวหรือวิตกกังวลมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ยาช่วยให้ผู้รับการรักษารู้สึกผ่อนคลาย เช่น ไนตรัสออกไซต์ (Nitrous oxide) ยาระงับความรู้สึกแบบรับประทาน (Oral sedatives) หรือยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ (Sedation) 
  2. ทันตแพทย์ใส่แผ่นยางกั้นน้ำลาย (Rubber dam) เพื่อแยกฟันที่จะทำการรักษากับเนื้อเยื่อช่องปากโดยรอบ
  3. ทันตแพทย์กำจัดฟันผุหรือรอยร้าว และกรอเปิดเพื่อให้เข้าถึงบริเวณโพรงเนื้อเยื่อในฟันและคลองรากฟัน และกำจัดเนื้อเยื่อในฟันที่อักเสบติดเชื้อ 
  4. ทันตแพทย์วัดความยาวรากฟันโดยใช้เครื่องมือวัดความยาวรากฟัน
  5. ทันตแพทย์ทำความสะอาดผนังคลองรากฟันและตกแต่งรูปร่างคลองรากฟัน ร่วมกับการล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  6. ทันตแพทย์ใส่ยาในคลองรากฟัน และอุดชั่วคราว
  7. เมื่อผู้รับการรักษาไม่มีอาการรากฟันอักเสบและสามารถเคี้ยวได้ตามปกติ ทันตแพทย์จะทำการอุดคลองรากฟันแล้วส่งผู้เข้ารับการรักษาสู่ขั้นตอนการบูรณะตัวฟันด้านบน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาคลองรากฟัน
  8. ในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยการใส่ยาหรือทำความสะอาดเพิ่มเติมจนกว่าอาการรากฟันอักเสบจะหายเป็นปกติ แล้วจึงจะทำการอุดคลองรากฟัน
  9. ในกรณีที่อาการอักเสบไม่ได้แพร่ลงสู่เนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน ทันตแพทย์อาจทำการรักษาคลองรากฟันได้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว


​การดูแลหลังการรักษารากฟัน

หลังการรักษารากฟันเสร็จสิ้น ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่ได้รับการรักษาได้รับความเสียหายเพื่อช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพฟันที่ดีในระยะยาว การดูแลหลังการรักษารากฟันมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

  • ทันตแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดบวม หรือปวดระบมบริเวณฟันซี่ที่ทำการรักษาตลอด 2-3 วัน หลังรับการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการใช้งานฟันด้านที่ทำการรักษา 1 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุอุดชั่วคราวหลุดแตก
  • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติ
  • หากวัสดุอุดฟันหลุด ให้กลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียรั่วซึมเข้าสู่คลองรากฟัน
  • ควรมาพบทันตแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อความต่อเนื่องในการรักษาและติดตามอาการ 
  • เมื่อการรักษาคลองรากฟันเสร็จสิ้น ควรรีบทำการบูรณะตัวฟัน เช่น การทำครอบฟัน โดยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน