ผ่าฟันคุด - ผ่าฟันฝัง

ฟันคุด (Wisdom teeth)


คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ก็ได้ ฟันคุดนั้นสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากต่าง ๆ มากมาย เช่น เหงือกอักเสบ ฟันผุ กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันของฟันข้างเคียงถูกทำลาย เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันคุดทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ถอน หรือผ่าฟันคุดออกนั่นเอง


​สาเหตุของการเกิดฟันคุด

มนุษย์ใช้ฟันชุดนี้ ในการเคี้ยวอาหารที่เหนียว และแข็งมากๆ เช่น ถั่ว ราก/ใบไม้ และธัญพืช เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น อาหารของเราได้รับการปรุงให้รับประทานง่าย ขนาดของกระดูกขากรรไกรจึงเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ฟันคุดซึ่งเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่มีพื้นที่พอที่จะขึ้นได้อย่างปกติ จนเป็นสาเหตุที่เราต้องมาผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดกันในทุกวันนี้


​ลักษณะ และ รูปแบบการขึ้นของฟันคุด

ฟันคุดมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะ และมุมของฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้


  • Mesial impaction – ฟันคุดจะมีลักษณะทำมุมเอียง และดันฟันกรามซี่ข้างเคียงจากทางด้านหน้า มีชื่อเรียกอื่นว่า Angular หรือ Mesioangular impaction ลักษณะฟันคุดแบบนี้จะพบได้บ่อยที่สุด และมักขึ้นมาไม่เต็มซี่
  • Distal impaction – เป็นลักษณะฟันคุดที่พบไม่บ่อย และเรียงตัวในทิศตรงข้ามกับ Mesial นั่นคือ ฟันคุดจะเอียงไปด้านหลังที่ไม่มีฟันอยู่ ทำให้หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งและมุมที่ไม่เอียงมาก จะมีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ หากคุณมีฟันคุดแบบนี้ คุณอาจจะไม่ต้องผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด หรือในบางกรณี คุณหมออาจจะรอติดตามไปสัก 1-2 ปีก่อนจะตัดสินใจว่าต้องผ่าหรือไม่
  • Vertical impaction – ฟันคุดแบบนี้จะตั้งตรงในมุมปกติไม่เอียงไปดันฟันซี่ข้างเคียง ถือเป็นฟันคุดประเภทที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เพราะมีโอกาสสูงที่จะสามารถขึ้นมาได้ตามปกติโดยไม่ต้องผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด
  • Horizontal impaction – ฟันคุดจะเรียงตัวในตำแหน่งแนวนอน ถือเป็นฟันคุดที่เอาออกยากที่สุด ใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัวมากที่สุด ฉะนั้นคุณควรได้รับการรักษาจากคุณหมอฟันเฉพาะทางด้านศัลยกรรม


อาการฟันคุดแบบไหนที่ควรผ่าฟันคุด

ส่วนใหญ่แล้วฟันคุดมักโผล่ขึ้นในวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงต้นของวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 17-25 ปี) คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือบางคนอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดตึง อักเสบ และอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือก เนื่องจากเป็นโรคปริทันต์
  • เหงือกบวม บางครั้งอาจบวมไปถึงแก้ม หรือกราม ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ หรือติดเชื้อ
  • ปวดบริเวณขากรรไกร
  • ฟันผุ เนื่องจากการแปรงฟัน และการใช้ไหมจัดฟันยากกว่าปกติ
  • การรับรส และลมปากมีกลิ่นผิดปกติ เพราะเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณที่ทำความสะอาดยาก
  • อ้าปากลำบาก / เจ็บเวลาอ้าปาก กรณีอาการบวมอักเสบลุกลามออกมานอกช่องปาก

 

หากคุณมีอาการดังกล่าวคุณอาจจำเป็นต้องผ่าฟันคุดโดยเร็วเพื่อป้องกันการลุกลามใหญ่โตของปัญหาทางทันตกรรมที่เกิดขึ้น


จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ผ่าฟันคุด

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด คือ

  • เหงือกที่คลุมฟันคุดอักเสบ เพราะฟันคุดที่ขึ้นมาบางส่วนจะมีเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย แต่ทำความสะอาดได้ยากส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียสะสม ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนองได้ หากทิ้งไว้ การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ส่งผลต่อการหายใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • ฟันผุ จากการที่ฟันคุดและฟันกรามซี่ที่ 2 อยู่ชิดกันในลักษณะที่ผิดปกตินี้ ทำให้ทำความสะอาดยาก เศษอาหารติดค้างจึงทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  • กระดูกละลาย จากแรงดันของฟันที่พยายามขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบๆ รากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
  • เกิดเป็นถุงน้ำ (Cyst) ฟันคุดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถุงน้ำ และยังสามารถขยายขนาดจนทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกบริเวณรอบๆ
  • กลิ่นปาก เหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และเศษอาหารตกค้างสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ฟันคุดจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คุณมีกลิ่นปาก ซึ่งทำให้คุณเสียบุคลิกภาพ



ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

  1. ตรวจวัดความดันโลหิต – หากคุณมีโรคประจำตัว หรืออายุมาก คุณหมอจะขอให้คุณวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด ความดันโลหิตที่สูงมากอาจส่งผลให้เลือดออกได้มากผิดปกติ และเป็นอันตรายได้ หากตรวจพบคุณหมออาจเลื่อนนัดผ่าฟันคุดของคุณออกไปก่อน จนกว่าจะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น
  2. ฉีดยาชา – ก่อนถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด คุณหมอจะฉีดยาชาให้กับคุณ และตรวจสอบว่ายาชาออกฤทธิ์ได้ดีแล้วก่อนเริ่มขั้นตอนถัดไป ซึ่งหลังจากนี้คุณจะแค่รู้สึกตึงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องกังวล
  3. เปิดช่องบนเหงือก – เพื่อเข้าถึงฟันคุดที่ยังไม่โผล่ขึ้นมา หรือโผล่ขึ้นมาไม่เต็มที่ คุณหมอจะตัดเปิดช่องบนเหงือกเพื่อเข้าถึงฟันคุดซี่ที่ต้องการผ่าออก
  4. เอาฟันคุดออก – คุณหมออาจจำเป็นต้องกรอกระดูกออกเล็กน้อย และตัดฟันคุดออกเป็นชิ้นที่เล็กลงเพื่อให้เอาออกได้ง่ายขึ้น ในขั้นตอนนี้คุณจะรู้สึกตึงเล็กน้อย ระหว่างที่คุณหมอกำลังโยกเพื่อสร้างพื้นที่เพิ่มเติมในการถอนฟันคุดออก
  5. ล้างแผล และเย็บปิด – หลังฟันคุดถูกเอาออกไปหมดแล้ว คุณหมอจะล้างแผล และใช้ไหมเย็บปิดบาดแผล รวมทั้งเช็คว่าไม่มีเลือดออกแล้วก่อนจะให้คำแนะนำคุณเพิ่มเติม พร้อมกับจ่ายยาให้คุณกลับไปรับประทาน คุณจะมีนัดตัดไหมอีกครั้งในอีก 7-10 วัน


หลังผ่าฟันคุดกิน และ ห้ามกิน อะไรบ้าง ?


หลังผ่าฟันคุดสามารถกินอะไรได้บ้าง?

เป็นเรื่องสำคัญที่หลังผ่าฟันคุดแล้วคุณควรเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ไม่ต้องเคี้ยว นี่คืออาหารที่เราแนะนำ

  • ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม – อาหารจำพวกนี้เป็นทางเลือกที่ดีเพราะกลืนง่าย และให้สารอาหารรวมถึงโปรตีนที่เพียงพอ และเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของแผล
  • สมูตตี้ – สมูตตี้สามารถทำจากผักและผลไม้ที่คุณชื่นชอบ ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินสำคัญๆ ที่คุณควรได้รับ
  • โยเกิร์ต – โยเกิร์ตนั้นอุดมไปด้วยโปรตีน และแคลเซียม แถมเวลาทานอะไรเย็นๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้นิดหน่อยด้วย
  • ไข่กวน, ไข่ตุ๋น – ไข่เป็นอาหารที่ปรุงง่าย และมีอยู่แทบทุกครัวเรือน ถือเป็นอีกหนึ่งโปรตีนที่มีประโยชน์ซึ่งคุณควรได้รับ


หลังผ่าฟันคุดห้ามกินอะไรบ้าง?

หลังผ่าฟันคุดคุณควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้

  • อาหารที่แข็ง หรือกรอบๆ – ยกตัวอย่างเช่น ป๊อปคอร์น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วต่างๆ ลูกอมแข็งๆ เศษอาหารเหล่านี้สามารถไปติดอยู่ในแผลผ่าฟันคุดได้โดยง่าย และทำให้เกิดการระคายเคือง เลือดออกซ้ำ รวมทั้งรบกวนกระบวนการหายของแผลด้วย
  • อาหารที่เหนียวมาก – คาราเมล ท็อฟฟี่ หมากฝรั่ง อาหารที่เหนียวจะดูดลิ่มเลือดบริเวณปากแผลผ่าฟันคุดให้หลุดออกได้ ลิ่มเลือดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือดเป็นอย่างมาก หากหลุดออกอาจทำให้เลือดออกซ้ำใหม่ได้
  • อาหารรสจัด – เช่น อาหารเผ็ด หรือเปรี้ยวมาก เนื่องจากไประคายเคืองแผลผ่าฟันคุดได
  • แอลกอฮอล์ – เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการหายของแผลผ่าฟันคุด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และภาวะกระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry socket)

การรักษาความสะอาด

  • หากเลือดหยุดดี คุณสามารถแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ แต่หลีกเลี่ยงการรบกวนบริเวณแผลผ่าฟันคุด กรุณาบ้วนน้ำเบาๆ งดใช้น้ำยาบ้วนปากในช่วงอาทิตย์นี้
  • วันที่ 2 คุณสามารถกลั้วปากเบาๆ ด้วยน้ำเกลืออุ่น วันละ 4-6 ครั้ง (ผสม หรือนำน้ำ 1 แก้ว ใส่ไมโครเวฟให้พออุ่น ใส่เกลือ 1/4 ช้อนชา คนให้เข้ากัน) ทำเช่นนี้ไปประมาณ 4-5 วัน
  • หากคุณหมอจ่ายน้ำยาบ้วนปาก Chlorhexidine คุณสามารถใช้แทนน้ำเกลืออุ่น