ตัดแต่งเหงือก

ตัดเหงือก (Gingivectomy)


หรือ การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก เป็นการผ่าตัดเหงือกหรือเปลี่ยนรูปร่างของเหงือก เพื่อยกระดับเหงือกและทำให้ฟันดูยาวขึ้น นอกจากนี้ยังทำเพื่อรักษาสภาวะบางอย่าง เช่น โรคเหงือกอักเสบ หรือปัญหาร่องเหงือกลึกที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการเกลารากฟันได้อีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่การตัดเหงือกจะทำร่วมกันกับการครอบฟันหรือวีเนียร์ การรักษารากฟัน และการผ่าหรือถอนฟันคุด เพื่อให้เหงือกดูมีสัดส่วนที่เหมาะสมเวลายิ้มก็จะสวยมากยิ่งขึ้น


สาเหตุที่ต้องผ่าตัดเหงือก

สาเหตุที่ต้องตัดแต่งเหงือกส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำการรักษาร่วมกับการทำทันตกรรมอื่น ๆ เช่น การตัดเหงือกภายหลังการจัดฟัน การรักษารากฟัน การทำครอบฟัน แก้ไขปัญหาเหงือกเยอะ เหงือกบวม การอุดฟัน ระดับขอบเหงือกของฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน และเหงือกงอกมาคลุมตัวฟันมากเกินไป ส่งผลทำให้การรับประทานอาหารไม่สะดวก บางคนทำปากกระจับทำเมื่อริมฝีปากบางลงเวลายิ้มอาจเห็นเหงือกเยอะขึ้น ซึ่งถ้าทำการตัดเหงือกเพิ่มก็จะช่วยทำให้ฟันดูยาว เวลายิ้มก็จะไม่เห็นเหงือกมากจนเกินไป

​การตัดเหงือกมีกี่วิธี

ปัจจุบันการตัดแต่งเหงือกสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การตัดขอบเหงือกด้วยมีดและการตัดเหงือกด้วยเลเซอร์ หรือเครื่องตัดเหงือกไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองวิธีจะมีกระบวนการทำที่แตกต่างกันดังนี้

1. การตัดขอบเหงือกด้วยมีด

การตัดขอบเหงือกด้วยมีดเป็นวิธีศัลยกรรมตัดแต่งเหงือกที่แต่เดิมเคยใช้มานาน โดยใช้มีด (blade) เป็นตัวตัดเหงือก โดยแพทย์จะใช้มีดตัดแต่งเหงือกที่มีส่วนเกินออกตามแนวร่องฟันที่ได้ทำการออกแบบไว้ เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วจะต้องเย็บและปิดแผลไว้ แล้วจะทำการนัดอีกครั้งเพื่อมาตัดไหมออก

ระหว่างนี้คนไข้จะต้องดูแลเรื่องความสะอาดให้ดี เพราะแผลอาจเกิดการติดเชื้อได้ และต้องมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้การตัดขอบเหงือกด้วยมีดนั้นมีข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง เช่น เลือดที่ออกค่อนข้างมากกว่า, ใช้เวลาในการพักฟื้น,มีรอยแผลที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่สำคัญคือแพทย์ต้องมีความชำนาญ เลยทำให้วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อยลง

2. การตัดเหงือกด้วยเลเซอร์ และ เครื่องตัดเหงือกไฟฟ้า

เมื่อเทียบกับการตัดเหงือกด้วยมีดแล้ว การตัดเหงือกเลเซอร์ หรือการตัดเหงือกด้วยเครื่องตัดหงือกไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะมีข้อดีคือ เจ็บน้อยกว่า, ไม่ต้องเย็บแผล,แผลมีขนาดเล็ก,เลือดออกน้อยกว่า และมีภาวะแทรกซ้อนที่น้อยกว่า รวมถึง ประสิทธิภาพที่ดีกว่า (minimal invasive)

โดยแพทย์จะทำการตัดแต่งเหงือกด้วยเครื่องมือสำหรับการตัดขอบเหงือกโดยเฉพาะ ใช้เวลาไม่นาน แต่ละซี่จะใช้เวลาในการทำประมาณ 2-4 นาทีเท่านั้น และขณะตัดสามารถห้ามเลือดได้ในตัว ไม่ต้องกังวลถึงความเจ็บ ไม่ต้องพักฟื้น จึงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม


​การตัดแต่งเหงือก ที่คนส่วนใหญ่นิยมทำจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การตัดเหงือกธรรมดา (Gingivectomy) จะเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือตัดเหงือกส่วนเกินออก เพื่อปรับแนวเหงือกให้เรียบ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้มีปัญหามากเพียงแต่มีเหงือกเยอะ และมีเหงือกงอกมาคลุมตัวฟันมากเกินไป เวลายิ้มจึงเห็นเหงือกมากกว่าคนทั่วไป ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจได้ แต่วิธีนี้อาจทำให้เหงือกที่ตัดกลับมาสู่ระดับขอบเหงือกเดิมก่อนที่ตัดได้ (relapse)
  2. การตัดแต่งเหงือกกรอกระดูกฟัน (Aesthetic Crown Lengthening) คือ การตัดเหงือกร่วมกับการกรอแต่งขอบกระดูกใต้เหงือกออกบางส่วน จึงเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหากระดูกฟันนูน และมีเหงือกหนาจนลงมาคลุมฟันมาก โดยทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดขอบเหงือกร่วมกับการกรอลดความสูงของขอบกระดูกฐานเหงือก ซึ่งจะให้ผลลัพธ์การรักษาแบบถาวรเหงือกจะไม่งอกกลับขึ้นมาอีก ซึ่งวิธีนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจและคงสภาพหลังการรักษาได้ดี


ข้อดี-ข้อเสีย การตัดแต่งเหงือก

  1. ช่วยเพิ่มความมั่นใจในรอยยิ้ม และเสริมบุคคลิกภาพให้ดีขึ้น
  2. เพื่อการรักษาที่เป็นประโยชน์ในขั้นตอนต่อไป เช่น การทำวีเนียร์ให้ดูมีมิติ และสวยงามมากที่สุด
  3. การบูรณะ เช่น การครอบฟัน หรือ การอุดฟัน เพื่อครอบคลุม ทั้งรอยที่ผุ รอยที่ฟันแตก ที่อยู่ใต้ขอบเหงือก เพื่อประสิทธิภาพของครอบฟัน และฟันที่อุดซี่นั้นให้ใช้ได้นานมากยิ่งขึ้น
  4. ให้ผลลัพธ์ถาวร เหงือกจะไม่กลับมางอกซ้ำอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู๋กับการดูแลสุขภาพฟันและเหงือกของคนไข้ร่วมด้วย
  5. ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน เฉลี่ยประมาณ 1-2 นาที/ซี่ หากรักษาด้วยเครื่องตัดเหงือกเลเซอร์ จะไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นและมีภาวะแทรกซ้อนที่น้อยกว่า
  6. ในกรณีที่ยิ้มแล้วเห็นกระดูกนูนเยอะเหนือริมฝีปากบน หลังทำตัดแต่งเหงือก ริมฝีปากจะดูอูมน้อยลง


ข้อเสียการตัดเหงือก

ต้องมีการผ่าตัดโดยการใส่ยาชาร่วมด้วย ในกรณีที่แพ้ยาชาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

หลังตัดเหงือก หากคนไข้ไม่ดูแลสุขภาพช่องปาก อาจนำไปสู่โรคปริทันต์ได้ เช่น เหงือกอักเสบ เหงือกร่น ฟันผุ คอฟันสึก

มีราคาที่ค่อนข้างสูง


การเตรียมตัวก่อนตัดเหงือก

  • ควรตรวจสุขภาพฟันอย่างละเอียด หากมีหินปูน ควรขูดหินปูนก่อน ทำการรักษา 2 สัปดาห์และมีสภาพเหงือกอักเสบให้น้อยที่สุด
  • ทำการเอกซเรย์เพื่อประเมินระดับกระดูก
  • หากมีโรคประจำตัว หรือมียาที่ทานประจำ รวมถึงการสูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มทำการรักษา
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น ต้องตัดเหงือกกี่ซี่ หรือต้องตัดเหงือกกรอกระดูกฟันหรือไม่


ขั้นตอนการตัดเหงือก

  1. ขั้นแรกแพทย์จะทำการฉีดยาชา รอยาชาออกฤทธิ์ 20-40 นาที และกำหนดจุดที่เหงือกก่อนการผ่าตัด
  2. เมื่อยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะทำการตัดเหงือกด้วยเครื่อง electrocautery ที่เป็นเครื่องตัดเหงือกไฟฟ้า เพื่อตัดเหงือกที่เป็นส่วนเกินออก
  3. ในกรณีที่คนไข้มีปัญหากระดูกฟันนูนร่วมด้วย แพทย์จะกรอและตกแต่งกระดูกฟันให้เกิดความสมดุล
  4. หลังจากทำการรักษาเสร็จแล้ว แพทย์จะแนะนำการดูแลความสะอาดในเบื้องต้น และนัดติดตามผลหลังทำ


วิธีดูแลหลังตัดเหงือก

  • ในการดูแลแผล ควรใช้ cutton bud ชุบน้ำ เช็ดทำความสะอาดบริเวณแผลอย่างเบามือ
  • หากมีอาการปวด สามารถทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้
  • งดทำกิจกรรมที่อาจส่งผลข้างเคียงต่อฟัน เช่น การกัดฟัน ต่อยมวย เคี้ยวอาหารแข็ง
  • ในระยะแรกอาจไม่สามารถแปรงฟันในบริเวณที่ได้รับการผ่าตัดได้ แต่สามารถใช้ไหมขัดฟันในบริเวณอื่นได้ตามปกติ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบ้วนทำความสะอาดได้
  • ทานยาฆ่าเชื้อที่แพทย์ให้ติดต่อกันจนหมด


ในช่วงแรกควรทานอาหารอ่อน เพื่อลดการระคายเคือง รวมถึงอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นๆ จะช่วยเพิ่มความเย็นสบาย เช่น

  1. ข้าวต้มหรือโจ๊กที่มีรสอ่อน
  2. น้ำผลไม้หรือนม
  3. ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอตามปกติคือวันละ 1.5-2 ลิตรครับ
  4. ผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กี่วี สับปะรด รวมไปถึงวิตามินเออย่างผักใบเขียวต่าง ๆ หรือผักจำพวกแครอท ฟักทองเป็นต้น เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูให้แผลหายไวขึ้น
  5. อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไก่ ปลา ไข่ขาว ธัญพืช แนะนำว่าให้เพิ่มโปรตีนมากกว่าปกติอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัวครับเพื่อร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อได้ ส่งผลให้แผลหายไวขึ้น


ตัดเหงือก ห้ามกินอะไรบ้าง

ในช่วงแรกควรเลี่ยงอาหารแข็งและ อาหารที่มีรสชาติเผ็ดหรือร้อนเกินไป เพราะสามารถระคายเคืองกับแผลได้ เช่น

  1. อาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ส้มตำ ยำ ต่างๆ เพราะอาจจะไปกระตุ้นให้แผลเกิดการอักเสบ
  2. งดเคี้ยวน้ำแข็ง ถั่วหรืออาหารแข็ง อาหารกรุบกรอบที่ส่งผลต่อฟัน
  3. ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
  4. เลี่ยงอาหารหมักดอง เช่น หน่อไม้ดอง ผลไม้ดอง เนื่องจากอาหารที่มีกรรมวิธีในการดองมักจะมีสิ่งปนเปื้อนที่อาจจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้


ตัดเหงือกกี่วันหาย

ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลความสะอาดเหงือกของคนไข้ ถ้าดูแลแผลดีและสะอาด การฟื้นตัวของเหงือกจะกลับมา (เป็นการลดคราบจุลินทรีย์ ที่จะตัวการทำให้เกิดภาวะเหงือกอักเสบ) โดยทั่วไป หลังจากสัปดาห์ที่ 4 ถ้าสภาพเหงือกแข็งแรง สามารถทำการบูรณะวีเนียร์ หรือ ครอบฟันต่อได้เลย