ครอบฟัน

“ครอบฟัน” หรือ “Dental Crowns”

คือ การใช้วัสดุพิเศษ “ครอบ” ลงไปบนตัวฟันที่มีปัญหาทั้งซี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับฟันที่ผุ แตก หัก จนไม่สามารถอุดได้ โดยวัตถุประสงค์หลักของการทำครอบฟัน คือการรักษาเนื้อฟันที่ยังเหลืออยู่ไม่ให้เสียหายไปมากกว่าเดิม พร้อมกันกับทำให้ฟันที่มีปัญหาซี่นั้นๆ กลับมาแข็งแรงใช้งานได้ตามปกติด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ฟันเราผุมากๆ จนเนื้อฟันแตกหลุดหายไป เราก็จะไม่สามารถใช้งานฟันได้อย่างปกติ จะรู้สึกเสียว เจ็บ และมีเศษอาหารติดได้ง่าย ซึ่งหากยิ่งฝืนใช้งานต่อไป ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่ฟันจะผุ แตก หักมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายอาจต้องถอนฟันซี่นั้นทิ้งไป ถ้าเราไม่ยากเสียฟัน ไม่อยากต้องใส่ฟันปลอม การทำครอบฟันคือทางออกที่จะช่วยให้เรารักษาฟันซี่นั้นไว้ได้ ทั้งยังช่วยให้การใช้ฟันซี่นั้นกลับมามีประสิทธิภาพ

การครอบฟันเหมาะกับใคร

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนที่มีปัญหาฟันผุ ฟันแตก หรือฟันบิ่น ที่รักษาไม่ได้ด้วยการอุดนั้น สามารถทำการครอบฟันได้ทั้งหมด เพราะหากความต้องการของการรักษาคือไม่อยากสูญเสียฟันซี่นั้นไป และต้องการกลับมาใช้ฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การครอบฟันคือวิธีการแก้ไขซ่อมแซมฟันที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งสามารถทำได้กับฟันทุกซี่ ทั้งฟันส่วนหน้าที่เน้นครอบเพื่อคืนความสวยงาม และฟันส่วนหลังหรือฟันกรามที่เน้นการใช้งานด้านการขบเคี้ยว แต่ทั้งนี้ ในการทำครอบฟันบางกรณี อาจต้องมีการตรวจสอบเรื่องของรากฟันก่อนด้วยว่ามีปัญหาอยู่หรือไม่ หากรากฟันมีปัญหาก็ควรรักษารากฟันให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงค่อยทำครอบฟันตามไป เพราะหากครอบฟันไปโดยที่รากฟันมีปัญหา สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาฟันผุหรือเสียวฟันตามมาภายหลังได้ และต้องรื้อฟันที่ครอบออกเพื่อทำการรักษารากฟันให้หายดี ก่อนจะครอบฟันใหม่อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ซ้ำซ้อน และทำให้ต้องเสียค่าใช้มากขึ้นกว่าเดิมโดยไม่จำเป็น


วัสดุในการครอบฟันมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีข้อดีที่แตกต่างกันอย่างไร

ในการทำครอบฟันนั้น สามารถใช้วัสดุได้หลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีข้อดีที่แตกต่างกันไป รวมถึงค่าใช้จ่ายก็แตกต่างกันด้วย โดยในปัจจุบันมีวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำครอบฟัน ดังต่อไปนี้

  1. ครอบฟันที่ทำมาจากโลหะล้วน (Full Metal Crown: FMC) เป็นวัสดุครอบฟันที่มีความโดดเด่นเรื่องความแข็งแรงทนทาน จึงเหมาะที่สุดสำหรับใช้ทำครอบฟัน รักษาฟันกราม ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบดเคี้ยว เพื่อกลับมาใช้ฟันขบเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ข้อควรพิจารณาอย่างหนึ่งของครอบฟันโลหะล้วนนั้น คือเรื่องของสีวัสดุ ที่จะมีลักษณะเป็นสีโลหะ และแบบสีทองผสม จึงทำให้เมื่อทำการครอบไปแล้ว สีของฟันจะไม่ได้เป็นสีธรรมชาติกลมกลืนกับฟันซี่อื่นๆ แต่เนื่องจากมักนิยมใช้รักษาฟันกรามที่อยู่ด้านใน จึงอาจไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์มากนัก เพราะโอกาสที่จะมองเห็นนั้นมีน้อยมากๆ
  2. ครอบฟันที่ทำมาจากเรซิน (All-Resin Crown) มักได้รับความนิยมใช้ในการทำครอบฟัน รักษาฟันส่วนหน้ามากที่สุด เนื่องจากวัสดุเรซินนั้นจะมีสีใส สวยงาม กลมกลืนเป็นธรรมชาติกับสีฟันซี่อื่นๆ แต่หากเทียบความแข็งแรงแล้ว ยังถือว่าเป็นรองครอบฟันโลหะอยู่มาก จึงทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมใช้ทำครอบฟันรักษาฟันกราม หรือฟันส่วนหลังเท่าไรนัก
  3. ครอบฟันที่ทำมาจากโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-Fused-to-Metal Crown: PFM) เป็นการผสมผสานกันระหว่างข้อดีเรื่องความแข็งแรงของโลหะ และสีที่สวยเป็นธรรมชาติของเซรามิก เพื่อให้ได้ตัวครอบฟันที่ทั้งแข็งแรงและมีสีสวยมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ครอบฟันแบบโลหะเคลือบเซรามิกนั้น จะต้องกรอเนื้อฟันออกมากเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถใส่ครอบฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ครอบฟันที่ทำมาจากเซรามิกล้วน (All-Ceramic Crown: ACC) เป็นครอบฟันที่ทั้งสวยงามและแข็งแรง เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้โลหะ แต่อย่างไรก็ตาม จะไม่เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟัน หรือชอบใช้ฟันกัดสิ่งของ เพราะเซรามิกก็ยังไม่แข็งแรงเท่ากับครอบฟันโลหะอยู่ดี ทั้งนี้ ครอบฟันที่ทำมาจากเซรามิกล้วนยังแบ่งประเภทย่อยได้อีก 2 ประเภทด้วยกันตามวัสดุที่ใช้ ได้แก่ ครอบฟันแก้วเซรามิก ซึ่งมีความโดดเด่นที่ความสวยงามเหนือครอบฟันชนิดอื่นๆ และครอบฟันเซอร์โคเนีย ที่มีความแข็งแรงกว่าครอบฟันเซรามิกทั่วไป
  5. ครอบฟันที่ทำมาจากสแตนเลสสตีล (Stainless Steel Crown: SSC) เป็นครอบฟันที่มีความโดดเด่นในเรื่องการไม่เป็นสนิม ทำง่าย ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องพิมพ์ปาก จึงนิยมใช้กับฟันน้ำนมในเด็ก เนื่องจากเด็กจะไม่มีความอดทนในการทำฟันได้นานและซับซ้อนได้เหมือนผู้ใหญ่


ในการทำครอบฟันนั้น จะไม่ใช่การรักษาฟันที่สามารถทำเสร็จได้ภายในวันเดียวเหมือนกับการถอนฟัน หรือการอุดฟัน แต่จะมีขั้นตอนในการดำเนินการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ดังต่อไปนี้

1. ตรวจสอบ ซักประวัติ และพิมพ์ปากเพื่อทำครอบฟันชั่วคราว

​ในวันแรกของการพบกันเพื่อทำครอบฟันนั้น ทันตแพทย์จะซักประวัติ ตรวจสอบปัญหาฟันที่ต้องการแก้ไข ตรวจการสบฟัน เอกซเรย์เพื่อดูสภาพรากฟัน ตรวจสอบเนื้อฟัน เพื่อประเมินว่าสามารถทำครอบฟันได้หรือไม่ หลังจากที่มั่นใจแล้วว่าสามารถทำครอบฟันได้ แพทย์จะพิมพ์ปากเพื่อส่งทำครอบฟันชั่วคราว

2. กรอฟัน พิมพ์ปากเพื่อทำครอบฟันถาวร

หลังจากวันแรกที่ตรวจทำพิมพ์ปากแล้ว แพทย์จะนัดหมายเข้ามาพบอีกครั้ง ฉีดยาชา กรอฟัน พร้อมเลือกสีฟันให้เหมาะสม ก่อนที่จะทำพิมพ์ปากอีกครั้งเพื่อส่งทำครอบฟันถาวร โดยในระหว่างที่รอครอบฟันถาวรนั้น แพทย์จะใส่ครอบฟันชั่วคราวที่ส่งไปทำในการพบกันครั้งแรกไว้ให้คนไข้ก่อน

3. ใส่ครอบฟันจริง

เมื่อครอบฟันถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนัดหมายมานำครอบฟันชั่วคราวออกเพื่อใส่ครอบฟันถาวร ซึ่งอาจมีการกรอตกแต่งเนื้อฟันอีกเล็กน้อยเพื่อให้ใส่ครอบฟันได้พอดี โดยหลังจากการใส่ครอบฟันถาวรเสร็จแล้ว ก็จะมีการตรวจสอบการสบฟัน ตรวจสอบความเรียบร้อย ก่อนจะใช้กาวทันตกรรมยึดครอบฟันถาวรให้สนิทติดแน่นที่สุด

4. นัดหมายติดตามอาการ

หลังจากการใส่ครอบฟันถาวรแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดหมายคนไข้เข้ามาตรวจเช็กสภาพฟัน ซักประวัติสอบถามอาการว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ สามารถใช้ฟันได้เป็นอย่างดีหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจเช็กสุขภาพช่องปากโดยรวมทั้งหมด หากไม่มีอะไรผิดปกติ แพทย์จะนัดหมายมาตรวจสภาพฟันอีกประมาณทุกๆ 6 เดือน

ดูแลรักษาอย่างไรให้ครอบฟันแล้วสุขภาพช่องปากแข็งแรง


โดยทั่วไปแล้วอายุการใช้งานของ “ครอบฟัน” นั้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-15 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานของคนไข้ โดยหากคนไข้ดูแลสุขภาพฟันสุขภาพช่องปากดี ไม่เคี้ยวน้ำแข็ง ไม่เคี้ยวของแข็งๆ ไม่ใช้ฟันกัด หรือฉีกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อายุการใช้งานก็จะยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ หลายๆ คนมักเข้าใจผิดว่าครอบฟันแล้วฟันจะไม่ผุ เพราะมีตัวครอบฟันช่วยปกป้องฟันเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงคือ ฟันยังผุได้เสมอหากไม่ดูแลช่องปากให้ดี ดังนั้น หลังจากครอบฟันแล้วจึงควรใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยในช่องปากอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฟันซี่ที่ทำการครอบ โดยอาจใช้ไหมขัดฟันเข้าช่วย เพื่อให้ทำความสะอาดได้หมดจดมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ก็ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เพื่อหากพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับโรคในช่องปากเกิดขึ้น จะได้สามารถรักษาแก้ไขได้โดยเร็วที่สุด

 

การทำครอบฟันนั้นคือการทำให้ฟันที่มีปัญหากลับมาแข็งแรง สวยงาม ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฟันซี่นั้นจะเหมือนเดิมปกติร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม และเราก็ยังมีโอกาสสูญเสียฟันซี่นั้นไปได้อยู่ดี หากเราไม่รักษาสุขภาพฟันให้ดี ดังนั้นแล้ว หนทางที่ดีที่สุดคือ เราควรดูแลฟันของเราให้แข็งแรงตั้งแต่แรกเริ่ม ฟันของเราจะได้ไม่ผุ ไม่หัก ไม่แตกบิ่น จนต้องซ่อมแซมด้วยกันครอบฟัน เราก็จะมีฟันที่แข็งแรงสวยงามเป็นธรรมชาติและใช้งานได้อย่างยาวนาน